Perspectives

คุยกับ 3 ผู้ประกอบการเกี่ยวกับความท้าทายในการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Business)

by
PeerPower Team
May 1, 2024

คุยกับ 3 ผู้ประกอบการเกี่ยวกับความท้าทายในการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Business)

เวลาพูดถึง “ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” หรือ Sustainable Business หลายคนมักส่ายหน้าเพราะไม่เชื่อว่าสิ่งนี้ทำจริง เป็นแค่เทรนด์หาจุดขายการตลาดมากกว่า 

แต่วันนี้ PeerPower เราอยากพาคุณมารู้จัก Local Alike HG Robotics และ Change Fusion 2 ธุรกิจ และ 1 องค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน กับเรื่องราวความท้าทายที่เป็นบทพิสูจน์ว่าธุรกิจเหล่านี้คือ “ของแท้” ไม่ใช่แค่ “เทรนด์” เพื่อการตลาดอย่างฉาบฉวย 

Local Alike ธุรกิจท่องเที่ยวที่ส่งรายได้คืนชุมชน 

ทุกปีประเทศไทยมีเม็ดเงินที่ได้จากการท่องเที่ยวหลายพันล้านบาท  

สถิติล่าสุดจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่าในปี 2566 การท่องเที่ยวของไทยโตขึ้น 44% คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 54,400 ล้านบาท แต่น่าเศร้าที่ตัวเลขนี้เป็นเงินย้อนกลับไปพัฒนาชุมชนน้อยมาก

ปัญหาคลาสสิกที่เกิดตลอดในภาคการท่องเที่ยวคือ เงินส่วนใหญ่ไหลกลับไปหานายทุน หรือแม้กระทั่งทัวร์ที่ขาย “วิถีชีวิตชุมชน” เองหลายครั้งก็เพียงแต่นำชุมชนมาใช้เป็นของประกอบฉากเท่านั้น รายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวไม่เคยย้อนกลับไปหาชาวบ้านอย่างจริงจัง 

คนส่วนใหญ่จะคิดถึงประเทศไทยว่าเป็น Sea Sand Sun เขาจะมองว่ามาเที่ยวบ้านเรา มาพัทยา มาข้าวสารได้โดยที่ไม่ต้องใช้เงินเยอะ แต่ชุมชนไม่เคยได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวรูปแบบนี้เลย”

เมื่อขาดเงินสิ่งที่ตามมาคือความยากจนและคุณภาพชีวิตตกต่ำ ปัญหาสเกลเล็กระดับตำบลที่ขยายวงกว้างจนกลายเป็นปัญหาของชาติ วนเวียนซ้ำ ๆ อยู่หลายสิบปี 

พอโมเดล “การท่องเที่ยววิถีชุมชน” เป็นกระแส รัฐก็เริ่มเห็นประโยชน์ว่าสิ่งนี้สามารถเป็นเครื่องมือทำให้ชุมชนมีเงินเลี้ยงตัวเองได้จนบรรจุเรื่องนี้เป็น “แผนยุทธศาสตร์ชาติ” โครงการเพื่อสังคมมากมายวิ่งสู่ชุมชน แต่สิ่งนี้กลายเป็นดาบสองคม ชุมชนได้ประโยชน์จากเงินทุน แต่เสียก็ต้องประโยชน์เพราะเงินที่ให้พร้อมเงื่อนไขบีบรัดหลายอย่าง

ในมุมมองของ คุณไผ-สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง Local Alike ปัญหาทั้งหมดนี้แก้ได้ที่ต้นเหตุ คือต้องให้เม็ดเงินย้อนกลับไปหาชุมชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาในรูปแบบที่ชุมชนได้ประโยชน์จริง ๆ 

คุณไผ-สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง Local Alike
คุณไผ-สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง Local Alike

Local Alike เป็นตัวอย่างของธุรกิจที่พัฒนาชุมชนด้วยการท่องเที่ยว โดยบริษัทจะเข้าไปช่วยพัฒนา บริหารเอกลักษณ์ท้องถิ่นนั้น ๆ ให้กลายเป็นทรัพยากรเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและหาลูกค้าให้ เงินที่ได้จะแบ่งคืนให้ชุมชนนำไปใช้พัฒนาด้านอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดการเติบโตร่วมกันของคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา Local Alike มีชุมชนที่เป็นพันธมิตรมากกว่า 250 แห่งใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ 

“ไม่ต้องถึงพันล้านล้านบาท เงินแค่ 10-20% ก็สามารถเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนชุมชนได้ เราอยากเห็นธุรกิจชุมชนด้านการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ทำให้ลูกหลานเลือกกลับบ้าน กลับไปบริหารธุรกิจในชุมชนและมีเวลาดูแลพ่อแม่ เราอยากเห็นชุมชนที่ทำด้านการท่องเที่ยวเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” 

HG Robotics แก้ไขปัญหาการเกษตรด้วยเทคโนโลยีโดรน 

ไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320 ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตรไปแล้ว 149 ไร่ ถ้าคิดเป็นตัวเลขง่าย ๆ ก็ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศ

ครั้งหนึ่งในอดีตผลิตผลทางการเกษตรจากไร่นี้เคยเป็นอุตสาหกรรมเชิดหน้าชูตาของประเทศ ไทยเคยเป็นผู้ส่งข้าวหอมมะลิรายใหญ่ของโลก แต่ตำแหน่งนี้ก็ถูกโค่นตามเวลาด้วยปัจจัยหลายอย่าง ส่วนหนึ่งเพราะความสามารถทางการเกษตรที่พัฒนาไม่ทันการแข่งขันในตลาดโลก

คุณช้าง-ดร.มหิศร ว่องผาติ ผู้บริหารจาก HG Robotics ได้ให้ความเห็นกับเราว่า 

“การเกษตรเป็นที่หนักและลำบาก ไทยกำลังขาดแรงงานเพราะสังคมมีแต่ผู้สูงอายุ และเมื่อขาดความรู้การจัดการก็ไม่สามารถควบคุมปริมาณผลผลิตได้”

คุณช้าง-ดร.มหิศร ว่องผาติ ผู้บริหารจาก HG Robotics
คุณช้าง-ดร.มหิศร ว่องผาติ ผู้บริหารจาก HG Robotics

คนที่ไม่เข้าใจจะคิดว่า แค่อัดปุ๋ยให้ได้ผลผลิตเยอะ ๆ ทุกอย่างก็น่าจะจบ แต่ความจริงคือ การอัดปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิตส่งผลให้เกิดการเคมีตกค้าง สิ่งนี้กลายเป็นปัญหาลูกโซ่ เกิดดินเสื่อม ผลผลิตไม่มีคุณภาพ คนกินตายเพราะสารเคมี คนปลูกก็ตายเพราะสารเคมีเหมือนกัน 

HG Robotics คือ ธุรกิจผลิตโดรนและออกแบบโซลูชั่นเพื่อการเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวเสริมให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวทำสวนได้ดีขึ้น ใช้เครื่องมือโดรนในการฉีดปุ๋ยเพื่อลดความเสี่ยงในการทำงานกับสารเคมี และใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ มาทดแทนแรงงานคนที่ขาดแคลน 

“เป้าหมายของเราคืออยากให้คนได้กินผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรดี ๆ ที่ปลอดภัยจากสารเคมี ถ้าสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้นคือการทำโดรน หุ่นยนต์ ทำระบบอื่น ๆ สิ่งที่เราทำตอนนี้ก็ครอบคลุมหมด”

ความท้าทายของธุรกิจเพื่อความยั่งยืน 

ธุรกิจทั้งสองเจ้าที่กล่าวข้างต้นต้องเจอความท้าทายหลายอย่าง 

สำหรับ HG Robotics ที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี บริษัทต้องแข่งกับเจ้าทรัพยากรอย่างจีนที่สามารถผลิตโดรนได้ในราคาถูกกว่า นอกจากนั้นเมื่อโดรนจัดอยู่ในหมวดเครื่องจักรทางการเกษตรที่ไม่มีภาษีนำเข้า การซื้อเข้ามาใช้ในไทยก็ทำได้ง่าย แต่คุณช้างให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า 


“ในมุมกลับกันคนจะยิ่งชินกับการใช้โดรนเพื่อการเกษตร จุดนี้จะทำให้เรามีสัดส่วนตลาดที่ใหญ่ขึ้น และด้วยศักยภาพผลิตภัณฑ์ก็เชื่อว่าเราสามารถมีส่วนแบ่งในตลาดนี้ได้ ความท้าทายของเราคือทำยังไงให้ได้ประโยชน์จากจุดนี้” 

ในขณะที่ Local Alike ก็เจอผลกระทบจากโควิดที่ทำให้การท่องเที่ยวซบเซา หลายชุมชนต้องรื้อฟื้นองค์ความรู้ใหม่ และต้องเร่งเตรียมตัวให้ทันการท่องเที่ยวที่กำลังเป็นเทรนด์กลับมา

“มีคนทำตัวเลขว่าในปีต่อ ๆ ไป การท่องเที่ยวทั่วโลกจะโตขึ้นอีก 10-15% ซึ่งเราเองก็เห็นแล้วว่ามันมี Demand เพิ่มขึ้นจริงจากนักท่องเที่ยวในไทยและต่างชาติ เราไม่อยากตกขบวนเลยต้องรีบพัฒนาตัวเองให้ทัน”

นอกจากนี้สิ่งที่ทั้ง 2 เจ้าเจอเหมือนกันคือ เงินทุน ที่พอไปบอกใครว่าธุรกิจนี้ทำเพื่อสังคม นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ขมวดคิ้วตั้งคำถาม: สิ่งนี้ทำได้จริงหรือไม่ วัดผลยังไง ทุนที่ให้ไปจะคุ้มจริงเปล่า?

คำแนะนำเกี่ยวกับเงินทุนสำหรับธุรกิจที่ต้องการสร้างความยั่งยืนจาก Change Fusion

คุณสุนิตย์ เชรษฐา ผู้บริหารของ Change Fusion องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นกับเราว่า

คุณสุนิตย์ เชรษฐา ผู้บริหารของ Change Fusion

“เราเห็นโครงการที่มีโมเดลเกี่ยวกับความยั่งยืนเยอะแต่กลับวัดผลไม่ได้ เขาแค่เติมคำว่า green ลงไปในธุรกิจ”

ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา หลายองค์กรออกมาริเริ่มโครงการเพื่อสังคม ทั้ง ESG CSR Carbon Credit ฯลฯ แต่โครงการเหล่านี้กลับไม่สามารถวัดผลได้จริง และถูกวิจารณ์เป็นโครงการ green washing เพื่อภาพลักษณ์องค์กรเท่านั้น  

“จริง ๆ มันมีโครงการที่สนับสนุนโมเดลธุรกิจแบบนี้เยอะ คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้คือ Demand and Solution ถ้าจะทำให้คนสนับสนุน ควรมี Solution ที่แก้ปัญหาให้ลูกค้าได้จริง ๆ ”

นอกจากนั้นแล้วบริษัทควรวางแผนเรื่องเงินทุนให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นและก็ควรหาทุนเมื่อมีความพร้อม เพราะเมื่อรับเงินทุนมาแล้วบริษัทก็ต้องทำตามเงื่อนไขที่มาพร้อมกับทุนเช่นกัน

นักลงทุนบางรายอาจต้องการเห็นความสำเร็จเชิงสิ่งแวดล้อมหรือสังคมจากการดำเนินงาน (Impact Investor) จุดนี้บริษัทต้องตอบโจทย์เขาให้ได้ 

อีกกรณีอาจเป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการดำเนินงาน หากมีเงินทุนเยอะแต่มูลค่าไม่ได้เติบโตตามที่คาดหวัง จุดนี้จะทำให้บริษัทไม่มีอำนาจต่อรองกับนักลงทุน

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวท้าทายของธุรกิจเพื่อความยั่งยืน จากมุมมองของคนวงในที่อยากแชร์ให้ทุกคนได้อ่าน ครั้งหน้าเราจะมีเรื่องอะไรมาพูดคุยกันอีก โปรดรอติดตาม Facebook: PeerPower Thailand

Author
PeerPower Team

สู่เป้าหมายทางการเงินที่ไกลขึ้น

ลงทุนและระดมทุนเพื่อธุรกิจผ่านคราวด์ฟันดิงกับ PeerPower
สมัคร